นกโพระดกหูเขียว
นกประจำถิ่นนานาชนิดจับคู่ผสมพันธุ์เพื่อให้ลูกนกฟักออกจากไข่ประจวบเหมาะกับช่วงที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งก็คือช่วงฤดูฝน ช่วงเวลาของปีที่มีพืชพรรณ ผลไม้ และแมลง ชุกชุมที่สุด ลูกนกมากมายเติบโตเข้าสู่วัยที่พร้อมจะออกจากรังไปเรียนรู้ชีวิตในโลกกว้าง แต่ก็เป็นช่วงเวลานี้ของปีนี่เองที่มีลูกนกป่าถูกพรากจากพ่อแม่มันมาวางขายอย่างผิดกฎหมายกันเกลื่อนกลาดมากกว่าปกติ เป็นที่รู้กันว่าลูกนกในวัยหัดบินนี้มีโอกาสเลี้ยงแล้วรอดอยู่ หลายคนเห็นลูกนกวัยนี้ก็อยากซื้อมาเลี้ยงไว้ในครอบครอง บ้างซื้อมาด้วยความสงสาร แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ตราบใดที่มีคนซื้อ ธุรกิจมืดมูลค่ามหาศาลนี้ก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้จำนวนนกป่าลดลง
นกสีสันสวยงาม ขนาดตัวไม่เล็กไม่ใหญ่ อย่างนกโพระดก (Barbet) เป็นหนึ่งในนกกลุ่มหลักๆที่ตกเป็นเหยื่อของธุรกิจเปื้อนเลือดนี้ อาจเพราะรังของพวกมันอยู่ในโพรงไม้ที่มักจะสังเกตเห็นได้ง่ายและอยู่ไม่สูงนัก
นกโพระดกที่พบบ่อยตามแหล่งขายสัตว์ผิดกฎหมาย ได้แก่ นกโพระดกธรรมดา(Lineated Barbet) และ นกโพระดกหูเขียว (Green-eared Barbet) คำว่า“หู”ในชื่อของมันหมายถึงขนคลุมหู (ear-covert) ซึ่งเป็นสีเขียว จัดเป็นนกโพระดกขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่สีสันไม่หลากหลายเท่านกโพระดกส่วนใหญ่ หัวของมันเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีลายขีดดำกระจายอยู่ทั่วไปทั้งหัวและอก หน้าตาละม้ายคล้ายกับนกโพระดกธรรมดาแต่มีขนาดเล็กกว่า ปากสีเงินแทน ปลายปากสีเทาเข้ม มีแถบสีดำคาดตา ข้างคอทั้งสองข้างมีแต้มสีแดง ม่านตาสีแดงเข้ม
ลำตัวสีเขียวช่วยพรางตัวของพวกมันในพุ่มไม้ได้เป็นอย่างดี นกโพระดกจะไต่ไปตามกิ่งไม้อย่างช้าๆ จิกกินลูกไม้ บางครั้งมันอาจจะเข้ามาจิกกินลูกไม้ใกล้ๆคนโดยไม่แสดงความหวาดกลัวเลย ปากที่ใหญ่โตเทอะทะนอกจากจะใช้เจาะโพรงไม้แล้ว ในช่วงเลี้ยงลูกยังช่วยให้มันสามารถจับแมลงตัวใหญ่ๆ เช่น ตั๊กแตน ได้อีกด้วย
เช่นเดียวกับนกกินผลไม้และนกโพระดกอื่นๆ ไม่ผิดถ้าจะพูดว่าพวกมันคือ“นักปลูกป่า” เพราะมันกระจายพันธุ์ต้นไม้ไปสู่สถานที่ห่างไกลได้ พบได้ตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ชายป่า ในระดับความสูงไม่เกิน 1,015 เมตรจากน้ำทะเล กระจายอยู่ทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคกลางและภาคใต้ นอกจากนี้ยังพบได้ในจีนตอนใต้ และเวียดนาม
ไม่ว่าจะสงสารนกที่ถูกจับมาขายแค่ไหน สิ่งที่ควรทำที่สุดคือต้องตัดใจไม่ซื้อ หากพบเห็นหรือทราบเบาะแสการค้านกป่า โทร.1362 แจ้งสายด่วนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือ โทร.1136 แจ้ง บก.ปทส. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
จับตั๊กแตนตำข้าวหัวโล่ (Rhombodera basalis) กินเป็นอาหาร กำลังกินตั๊กแตนกิ่งไม้ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น